วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทที่ 2
ความหมายของศาสนา
“ศาสนาเป็นอะไร?”

1. ความหมายของศาสนา : ศาสนา คือ วิถีชีวิตที่มุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุด/ความรอดพ้น”

1.1 นิยามของศาสนา

มีหลากหลายแนวความคิด ที่อธิบายนิยามของศาสนา ได้แก่

1.1.1 คำว่า “Religion” มาจากคำภาษาลาตินว่า “Religio” (Ligo + ligare) หมายถึง “ข้อผูกมัด/พันธสัญญา” (Bond) ที่เป็นหลักให้มนุษย์สู่ความเป็นจริงสูงสุดอาศัยจารีตพิธี (Rites) หลักความเชื่อ (Beliefs) และบรรทัดฐาน (Norm) (Upanee, n.y.)

1.1.2 ศาสนา คือ วิถีชีวิต (Way of life) (เดือน คำดี, 2545) ที่ประกอบด้วยความเชื่อและเหตุผล ที่มุ่งสู่ความจริงเพื่อความรอดพ้น จึงมีลักษณะ “เน้นวิถีสู่ความรอดพ้น”

1.1.3 ศาสนาเป็นระบบความเชื่อที่พัฒนาให้มีเหตุผลมากขึ้น (สมภาร พรมทา, 2546)

1.1.4 ศาสนา เป็นปรากฎการณ์ในสังคมมนุษย์ ซึ่งจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อยสามประการ คือ มโนภาพเรื่องเหนือธรรมชาติ ระบบศีลธรรมและพิธีกรรม (กีรติ บุญเจือ, 2522: 240)

1.1.5 ศาสนาไม่ใช่เพียงความเชื่อศรัทธาเท่านั้น แต่ยังมีการสนองตอบทางอารมณ์และปฏิบัติ ตามความรู้สึกต่อความเป็นจริงสูงสุดด้วย (อิมรอน มะลูลีม, 2539)

1.1.6 ศาสนา หมายถึง การที่มนุษย์มุ่งสู่ความเป็นจริงสูงสุด (ความรอดพ้น) ด้วยความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นจริงสูงสุด (Ubanee, n.y.)

1.1.7 ศาสนา มีนิยามที่สำคัญสองแนว ได้แก่ (Angeles, 1981: 246)
ก. ศาสนา เป็นการอ้างอิงต่อภาวะที่เหนือธรรมชาติ (ศาสนา คือ ความเชื่อศรัทธาและการนมัสการต่อความเป็นจริงสูงสุดที่อยู่เกินขอบเขตโลกแห่งผัสสะ ที่สร้างและควบคุมสรรพสิ่งให้ดำรงอยู่ตามพระประสงค์)
ข. ศาสนา เป็นการอ้างอิงแนวคิดที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (ศาสนา คือ ความพยายามของมนุษย์ที่จะบรรลุสู่ความรอดพ้น)

1.1.8 ศาสนาเป็นเรื่องของศีลธรรม เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นเรื่องของการเน้นกฎเกณฑ์ และข้อบังคับให้ปฏิบัติ (Edwards, 1972)

1.1.9 ศาสนา คือ ความเชื่อ ความศรัทธาของมนุษย์ ที่มีต่ออำนาจหนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากตัวมนุษย์ อันเป็นแหล่งที่เขาแสวงหาเพื่อความมั่นคงของชีวิต. (Galloway อ้างใน อิมรอน, 2539)

1.1.10 ศาสนา คือ ชีวิตแห่งการสร้างความสัมพันธ์กับความเป็นจริงสูงสุด (Moore cited in William, 1973)
1.1.11 ศาสนา คือ ความเชื่อในภาวะที่เป็นจิต (Taylor cited in William, 1976)

จากการนำเสนอตัวอย่างนิยามของศาสนาดังกล่าว เห็นได้ว่ามีส่วนที่เป็นสาระสำคัญ คือ ศาสนา เป็นการเน้นประสบการณ์การดำรงอยู่ของมนุษย์ ในฐานะที่มนุษย์มีอยู่ (Being) เพื่อแสวงหาความสมบูรณ์สูงสุดของชีวิต อย่างไรก็ตาม มนุษย์สำนึกตนว่า ความสมบูรณ์ของชีวิตไม่ได้อยู่ในสภาพชีวิตที่ตนเป็นอยู่ในภาวะปัจจุบัน มนุษย์ไม่สามารถบรรลุถึงความสมบูรณ์นี้ในตัวเอง และด้วยศักยภาพของตนเท่านั้น มนุษย์ต้องแสวงหาความสมบูรณ์นั้นด้วยการสร้างความสัมพันธ์กับความเป็นจริงสูงสุด (Absolute Being) ในรายละเอียดที่แตกต่างกันไปของแต่ละศาสนา

1.2 ข้อสังเกตเกี่ยวกับนิยามของศาสนา

แม้นิยามของคำว่าศาสนา จะมีหลากหลาย แต่สิ่งที่เราควรใส่ใจคือแก่นแท้ของศาสนา คือ การมุ่งสู่ความรอดพ้น ไม่ใช่ในระดับความคิด ความเข้าใจ แต่ศาสนาเป็นเรื่องระดับจิตใจที่มนุษย์มีความปรารถนาที่จะบรรลุความบรมสุขเที่ยงแท้ ถาวร นิรันดร อย่างไรก็ตาม “ความเชื่อทื่อ ๆ อย่างเดียวไม่เคยช่วยให้เราเกิดความซาบซึ้งในอะไรได้” (สมภาร พรมทา, 2546: 17) แต่ต้องอาศัยการไตร่ตรองเนื้อหาคำสอนด้วยจิตใจอย่างลึกซึ้งและนำไปปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวัน

ศาสนาจึงพยายามตอบปัญหาที่มีอยู่ในใจของมนุษย์ตั้งแต่เริ่มต้นประวัติศาสตร์ คือ เหตุผลและที่มาของสิ่งต่างๆ โดยความเชื่อศรัทธา และใช้สติปัญญาทำความเข้าใจต่อคำสอน (ความจริง) ที่ได้รับจากองค์ศาสดา ซึ่งเชื่อว่าได้รับมอบหมายจากพระเจ้า/ความเป็นจริงสูงสุดให้เผยแสดงแก่มนุษย์ หรือองค์ศาสดา ที่เชื่อว่าได้บรรลุถึงสัจธรรมอย่างแท้จริง (อิมรอน, 2539)

William B. Williamson (1976) ได้ศึกษาวิเคราะห์ศาสนาตามนิยามต่างๆ และได้แยกประเภทของนิยามศาสนาไว้ 5 ลักษณะ คือ

1.2.1 การนิยามศาสนา ด้วยการกำหนดความหมาย (มโนภาพ) ของคำ (Term) ที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะของศาสนา (เน้นความแตกต่างของศาสนากับศาสตร์อื่นๆ)

1.2.2 การนิยามศาสนา แบบพจนานุกรม ด้วยการกำหนดความหมายและการนำคำ (ศาสนา) ไปใช้กับส่วนที่เกี่ยวข้อง (เน้นความหมายเพื่อการนำคำไปใช้)

1.2.3 การนิยามศาสนา ด้วยการเน้นจุดประสงค์/จุดหมายของศาสนา (เน้นจุดหมายของศาสนา)

1.2.4 การนิยามศาสนา ด้วยการเน้นความเกี่ยวข้อง สัมพันธ์กับสิ่งอื่น (เน้นศาสนาในฐานะที่เท่าเสมอกับศาสตร์/ความจริงอื่นๆ)

1.2.5 การนิยามศาสนา ด้วยการเปรียบเทียบ หรือการยกตัวอย่างเพื่อเน้นถึงความคล้ายคลึง ระหว่างศาสนากับสิ่งที่นำมาเปรียบเทียบ (เน้นศาสนาในเชิงรูปธรรม)

อย่างไรก็ตาม การพิจารณานิยามและการจำแนกประเภทของนิยามศาสนา ก็ประสบปัญหา เนื่องจากไม่สามารถครอบคลุมเนื้อหาของคำว่า “ศาสนา” ได้ จึงจำเป็นต้องพิจารณานิยามของศาสนา โดยนำหลากหลายแนวคิด/นิยามมาพิจารณา เพื่อจะได้อธิบายศาสนาได้ครบถ้วนที่สุด

2. ประเภทของศาสนา

นักวิชาการด้านศาสนศาสตร์ มีความเข้าใจว่าแนวคิดเรื่องศาสนา เริ่มต้นตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์และก่อนวัฒนธรรมมนุษย์ (Prehistoric and Primal cultures) (David, 1994) แม้ว่าในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะกำหนดศาสนาสากล เป็น 11 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ (Zoroastrianism) ยูดาห์ (Judaism) พราหมณ์-ฮินดู (Brahma-Hinduism) เต๋า (Taoism) ขงจื้อ (Confucianism) พุทธ (Buddhism) เชน (Jainism) คริสต์ (Christianity) อิสลาม (Islamism) สิกข์ (Sikhism) ชินโต (Shinto)

นักศาสนศาสตร์ได้แบ่งประเภทของศาสนาได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่ศาสนาในสมัยโบราณ ศาสนาตามแหล่งกำเนิด ศาสนาก่อน/หลังวัฒนธรรม/อารยธรรม ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในที่นี้ขอนำเสนอสามรูปแบบ ได้แก่

2.1 การแบ่งประเภทของศาสนา ตามรูปแบบวิวัฒนาการของศาสนา

การแบ่งประเภทของศาสนาตามรูปแบบนี้ สามารถแบ่งศาสนาได้สองประเภท คือ (เดือน คำดี, 2545)

2.1.1 ศาสนาตามธรรมชาติ (Natural Religion)

หมายถึง ศาสนาที่นับถือธรรมชาติ มีความรู้สึก สำนึกว่าสิ่งต่างๆ ตามธรรมชาติที่ปรากฎ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ฯลฯ มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ (David, 1994) จึงต้องแสดงความเคารพนับถือ เนื่องจากมนุษย์ได้เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ตามธรรมชาติรอบตัว จึงคิดและเชื่อว่าทุกอย่างต้องมีผู้ทำให้เกิดขึ้น ในธรรมชาตินั้นมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือธรรมชาติคอยควบคุม นี่เป็นการแสดงออกของศาสนาดั้งเดิม และเป็นขั้นแรกที่มนุษย์แสดงออกซึ่งความสำนึกคิดเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือแนวคิดวิญญาณนิยม (Animism) นั่นเอง

2.1.2 ศาสนาที่มีการพัฒนาเป็นองค์กร (Organized Religion)

หมายถึง ศาสนาที่มีวัฒนาการมาโดยลำดับ (จากข้อ 1.1) เป็นศาสนาที่มีการจัดรูปแบบ มีการควบคุมให้เป็นระบบ มีการก่อตั้งในรูปแบบสถาบันขึ้น บางครั้งเรียกว่าศาสนาทางสังคม (Associative Religion) มีการจัดระบบความเชื่อตอบสนองความจำเป็นทางสังคม มีการคำนึงถึงความเหมาะสมแก่สภาวะสังคมเป็นหลัก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ก่อรูปเป็นสถาบันทางศาสนาขึ้น อันเป็นแหตุทำให้ศาสนาประเภทนี้ มีระบบและเป็นสถาบันถาวรในสังคมสืบมา มีระบบและรูปแบบของตัวเอง เช่น ศาสนายิว ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม ศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ เป็นต้น

2.2 การแบ่งประเภทของศาสนา โดยพิจารณาจากผู้นับถือศาสนา

การแบ่งศาสนาตามรูปแบบนี้ สามารถแบ่งศาสนาได้สามประเภท คือ

2.2.1 ศาสนาเผ่า (Tribal Religion)

หมายถึง ศาสนาของคนในเผ่าใดเผ่าหนึ่ง ซึ่งเป็นความเชื่อของชนกลุ่มในเผ่า เช่น ศาสนาของคนโบราณเผ่าต่างๆ ที่ได้พัฒนาการขึ้นเป็นศาสนาของชาติ มี แปดศาสนา คือ ศาสนาฮินดู ศาสนาเชน ศาสนายูดาย ศาสนาชินโต ศาสนาขงจื้อ ศาสนาสิกข์ และศาสนาโซโรอัสเตอร์ เนื่องจากเริ่มต้นของศาสนานั้นๆ มีการนับถือในชาติใดชาติหนึ่งหรือเผ่าหนึ่งมาก่อน เช่น ศาสนาฮินดู เริ่มต้นมีผู้นับถือกันเฉพาะชาวอินเดีย ศาสนาโซโรอัสเตอร์ เริ่มต้นมีผู้นับถือเฉพาะชนเผ่าเปอร์เซีย ศาสนายูดาย เริ่มต้นมีผู้นับถือเฉพาะในหมู่ชาวอิสราเอล ศาสนาชินโต เริ่มต้นมีการนับถือเฉพาะในหมู่ชาวญี่ปุ่น และศาสนาขงจื้อ เริ่มต้นมีผู้นับถือเฉพาะในหมู่ชาวจีน

2.2.2 ศาสนาโลก (World Religion )

หมายถึง ศาสนาที่มีผู้นับถือ ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะกลุ่มบุคคลกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง หรือชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น แต่มีผู้นับถือศาสนากระจัดกระจายไปทั่วโลก ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม

2.2.3 ศาสนากลุ่ม (Segmental Religion )

หมายถึง ศาสนาที่ถือกำเนิดจากศาสนาใหญ่ๆ หรือมีลักษณะเป็นนิกายย่อยของศาสนาหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากสาเหตุความกดดันทางสังคม เช่น การเหยียดสีผิว สิทธิทางกฎหมายความไม่เท่าเทียมกัน เป็นต้น กลุ่มบุคคลที่เสียเปรียบทางสังคมมีความประสงค์ที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ และธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมของตนเอง จึงฟื้นฟูลัทธิศาสนา และระบบทางสังคมให้เป็นของตัวเองขึ้นมาใหม่ ทำการรวบรวมผู้คนที่ประสบภาวะเช่นเดียวกัน และทำการเผยแผ่ศาสนาและวัฒนธรรมในต่างแดน เช่น กลุ่มชาวพุทธในอินโดนีเซีย กลุ่มมุสลิมดำในอเมริกา กลุ่มโซโรอัสเตอร์ในอินเดีย กลุ่มฮินดูในอาฟริกาใต้ เป็นการรวมสมาชิกกลุ่มเข้าด้วยกัน อาศัยศาสนาเป็นศูนย์รวมจิตใจให้เป็นกลุ่มเดียวกัน

2.3 การแบ่งศาสนาตามหลักคำสอน

การแบ่งศาสนาตามรูปแบบนี้ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ด้วยการแบ่งศาสนาออกเป็นสองประเภท ได้แก่

2.3.1 ศาสนาประเภทเทวนิยม (Theistic Religion )
หมายถึง ศาสนาซึ่งมีหลักการและคำสอนที่ว่าความเป็นจริงสูงสุด (Supreme/Absolute Being) เป็นแก่นคำสอน ได้แก่ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ศาสนาสิกข์ ศาสนายูดาห์ ศาสนาโซโรอัสเตอร์ ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม บางครั้งมีการรวบรวมเอาศาสนาเต๋าและศาสนาขงจื้อเข้าไปด้วย ซึ่งมีขึ้นอยู่ที่การตีความและอธิบายศาสนาทั้งสองดังกล่าว

2.3.2 ศาสนาประเภทอเทวนิยม (Atheistic Religion)
หมายถึง ศาสนาที่มีหลักการและมีคำสอนที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลางคำสอน ได้แก่ ศาสนาเชน ศาสนาพุทธ และศาสนาขงจื้อ (แล้วแต่การตีความ) ซึ่งมีคำสอนที่ปฏิเสธบทบาทและความสำคัญของความเป็นจริงสูงสุดที่มีลักษณะเป็น “อัตตา/ตัวตน” (Absolute person) แต่เน้นเรื่องการกระทำของมนุษย์โดยตรง คือ เน้นเฉพาะความรู้ที่ “เป็นจริง มีประโยชน์และเหมาะสมต่อกาละเทศะ” (สุเชาวศ์ พลอยชุม, 2546: 11) เพื่อบรรลุความรอดพ้น

3. ลักษณะของศาสนา

การอธิบายลักษณะของศาสนา จะนำเสนอตามการแบ่งประเภทของศาสนาตามรูปแบบของหลักคำสอน (หัวข้อ 2.3) ซึ่งแบ่งศาสนาเป็นสองประเภท คือ ศาสนาแนวเทวนิยมและอเทวนิยม

3.1 ศาสนาประเภทเทวนิยม

3.1.1 แนวคำสอน
ศาสนาแนวเทวนิยม มีแนวคำสอนที่สำคัญดังนี้

ก. เชื่อว่ามีความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า ซึ่งมีลักษณะเป็นพระผู้เป็นบุคคลที่มีอยู่ (Absolute person) ผู้ทรงสรรพานุภาพ ทรงสร้างสรรพสิ่ง ทรงบำรุงเลี้ยง ทรงรักษาและทรงปกครองสรรพสิ่งอยู่ตลอดเวลา

ข. เชื่อว่าความเป็นจริงสูงสุดมีองค์เดียว (Monotheism) หรือหลายบุคคลแต่เป็นหนึ่งเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื่อในความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า ที่ทรงสร้างสรรพสิ่ง ทรงเป็นบ่อเกิดและทรงอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ค. คำสอนของศาสนาเน้นให้มนุษย์มีความเชื่อมั่นอยู่กับความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า โดยเน้นว่า

1) ทุกสรรพสิ่ง เกิดจากการสร้างสรรค์ของความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า พระองค์เป็นพื้นฐานและบ่อเกิดของสรรพสิ่ง
2) พระองค์ทรงเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ มีคำสอนว่ามนุษย์เกิดจากการสร้างสรรค์ของพระองค์ ฉะนั้น ความเชื่อในรูปนี้จึงผูกพันมนุษย์ให้อยู่กับความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า
3) มนุษย์ต้องมีความเชื่อศรัทธาต่อความเป็นจริง/พระเจ้าอย่างสิ้นเชิงว่า พระองค์ทรงเป็นผู้ประทานชีวิต และด้วยความเชื่อนี้เอง มนุษย์จึงต้องสำนึกตนว่า ชีวิตมนุษย์ต้องพึ่งพิง และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อยู่เสมอ

3.1.2 วิวัฒนาการ : การพึ่งพิง/อาศัยสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงสัจธรรม
จากแนวคำสอนดังกล่าวที่นำเสนอข้างต้น ทำให้เห็นวิวัฒนาการของศาสนาแนวเทวนิยม ตามเกณฑ์การแยกประเภทของความเชื่อ ดังนี้ (เดือน คำดี, 2545)

ก. เอกเทวนิยม (Monotheism)

มีความเชื่อว่าทุกสิ่งที่มีอยู่ เกิดจากการสร้างสรรค์ของความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้าเพียงองค์เดียวเท่านั้น ฉะนั้น จึงถือว่าพระเจ้าเพียงองค์เดียวที่สามารถสร้างสรรค์ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นในโลก คำสอนเช่นนี้พบได้ในศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์และอิสลาม

ข. พหุเทวนิยม (Polytheism)

มีความเชื่อต่อความเป็นจริง/เทพเจ้าหลายองค์ โดยถือว่าสรรพสิ่งเกิดจากเทพเจ้าหลายองค์ ทรงบัญชาให้เป็นไปโดยแต่ละองค์ทรงปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ กัน คำสอนเช่นนี้ พบได้ในศาสนาฮินดู และศาสนาชินโต
ความเชื่อแนวพหุเทวนิยมนี้ มีหลายลัทธิ/ศาสนาด้วยกันที่ถือว่ามีเทพเจ้าพื้นดิน มหาสมุทรและพระอาทิตย์ เป็นต้น ลักษณะต่างๆ (Aspects) ของสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติแต่ละประเภท จะต้องมีเทพเจ้าประจำทั้งสิ้น นอกจากนั้น เทพเจ้ายังมีหน้าที่ตรวจดูความประพฤติของมนุษย์ แม้ในบางวัฒนธรรมยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าว่า เป็นเทพประจำบ้านเรือน ประจำหมู่บ้าน ประจำเผ่า เพื่อทำหน้าที่คอยพิทักษ์มนุษย์เหล่านั้น


ค. สรรพเทวนิยม (Pantheism)

มีความเชื่อว่า ความเป็นจริง/เทพเจ้า และจักรวาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนไม่อาจจะแยกออกจากกันได้ ทุกสิ่งที่มีอยู่นั้น อยู่ในความควบคุมดูแลของเทพเจ้า ทุกสิ่งมีเทพเจ้าประจำ/สิงสถิตอยู่ทั้งสิ้น เช่น ดวงอาทิตย์ ก็มีเทพสุริยัน ดวงจันทร์ก็มีเทพจันทรา แม่น้ำก็มีพระแม่คงคา แผ่นดินก็มีพระแม่ธรณี ต้นไม้ก็มีรุกขเทวดา เป็นต้น

3.2 ศาสนาประเภทอเทวนิยม

3.2.1 ความหมายของอเทวนิยม

คำว่า “อเทวนิยม” มีความหมายสองประการ คือ

ก. ศาสนาประเภทที่มีหลักการและหลักคำสอนซึ่งไม่มีความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง โดยสอนว่าไม่มีพระเจ้า (God) หรือความเป็นจริงสูงสุดที่สร้างสรรพสิ่ง สรรพสิ่งเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดำเนินการและสูญสลายไปตามเหตุปัจจัย หรือสอนเฉพาะความจริง มีประโยชน์และเหมาะสมต่อกาละเทศะเฉพาะบุคคลนั้นๆ เนื่องจากมีความคิดว่า การรู้จักพระเจ้า (ความเป็นจริงสูงสุด) ไม่มีประโยชน์ต่อความรอดพ้น

ข. แนวคิดวัตถุ/สสารนิยมที่ปฏิเสธความมีอยู่ของความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า ที่ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ การยอมรับเฉพาะความเป็นจริงที่รับรู้และพิสูจน์ความจริงได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

จากการพิจารณาความหมายของอเทวนิยม ทำให้เราเข้าใจได้ว่า นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ชื่อว่าเป็นอเทวนิยมด้วย เนื่องจากเนื้อหาและเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ทดลองนั้น ไม่เกี่ยวกับความเป็นจริงสูงสุด/พระเจ้า นักวิทยาศาสตร์มีแนวโน้มอยู่ในกลุ่มวัตถุ/สสารนิยม เนื่องจากสนใจศึกษาค้นคว้าเฉพาะความเป็นจริง (ข้อเท็จจริง) ที่สามารถพิสูจน์ได้ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น

จึงสรุปได้ว่า อเทวนิยมเน้นความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ในชีวิตปัจจุบันนี้ มากกว่าความเป็นจริงที่เป็นความเชื่อ ที่ไปผูกพันอยู่กับภาวะเหนือธรรมชาติ




3.2.2 วิวัฒนาการ : การขจัดอวิชชาภายในตนเอง สู่การรู้แจ้งต่อสัจธรรมด้วยการบำเพ็ญเพียรอย่างจริงจัง

ศาสนาอเทวนิยมพัฒนาขึ้นมาจากการปฏิเสธอำนาจภายนอกตัวมนุษย์ หรือปฏิเสธการมีอยู่/บทบาทของภาวะที่อยู่เหนือธรรมชาติ หันมามุ่งเน้นให้ความสำคัญทางจิตใจภายในตัวตนของมนุษย์เอง คิดว่าภายในตัวตนของมนุษย์มีคุณวิเศษแฝงอยู่ ความดี ความชั่ว อันตรายและความปลอดภัยก็มีอยู่ในตัวของมนุษย์เอง ถ้าค้นหาความจริงภายในตนเอง จะทำให้ขจัดอวิชชา จนสามารถพบ ทำให้เข้าใจโลก และชีวิต จึงแสวงหาความจริงโดย

ก. การบำเพ็ญทุกขกิริยา (Self Mortification) หมายถึง การทรมานตนเอง เพื่อแสวงหาคุณวิเศษ เนื่องจากมีความเชื่อว่าการเซ่นสังเวยสิ่งเหนือธรรมชาติ ไม่ได้เป็นวิธีที่ดีพอที่จะพบและเข้าใจความจริง แต่เชื่อว่าต้องด้วยการแสวงหาคุณวิเศษในตนเอง โดยเฉพาะการกำจัดกิเลสภายในจิต อาศัยการทรมานร่างกาย ซึ่งต้องอาศัยความเพียรแรงกล้า และความอดทนเป็นพิเศษ เช่น การนอนบนหนาม ย่างตัวบนเตาไฟ อดอาหาร เฆี่ยนตีตนเองอยู่เสมอ เป็นต้น จะช่วยขจัดกิเลสและพบสัจธรรมของชีวิต

ข. การประพฤติตนอย่างผู้ศักดิ์สิทธิ์ (Holy Life) เป็นพัฒนาการจากขั้นแรก เนื่องจากมนุษย์มีวิวัฒนาการทางปัญญาสูงขึ้น อาศัยประสบการณ์และความเพียรพยายาม เพื่อค้นหาสัจธรรมของชีวิต โดยการไม่ต้องอ้างอิงอำนาจของสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่พยายามใช้สติปัญญาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ จนสามารถเข้าถึงความรอดพ้นได้ แล้วนำผลการค้นคว้าที่ตนได้ประสบมานั้น ประกาศสั่งสอนมนุษย์อื่นๆ ให้รู้ตามไปด้วย

3. องค์ประกอบของศาสนา

จากตัวอย่างนิยามของศาสนาที่ได้นำเสนอไปข้างต้น ทำให้เข้าใจว่าศาสนาเป็นปรากฏการณ์ทางจิต เป็นวิถีชีวิตมนุษย์ ศาสนาจึงเป็นบ่อเกิดของคุณค่าและวัฒนธรรม ซึ่งมีความสัมพันธ์ เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

นักวิชาการด้านศาสนศาสตร์ ได้วิเคราะห์องค์ประกอบของศาสนาที่หลากหลาย แต่องค์ประกอบสำคัญมี 5 ประการ (เดือน คำดี, 2545) ได้แก่

3.1 ศาสดา

หมายถึง ผู้ก่อตั้ง/สถาปนาศาสนา หรือให้หลักคำสอนเพื่อบรรลุความรอดพ้น/สัจธรรม ซี่งมีลักษณะแตกต่างไปตามประเภทของศาสนา ได้แก่

3.1.1 ศาสดาศาสนาแนวเทวนิยม หมายถึง พระเจ้าที่เสด็จมาเป็นมนุษย์ หรือศาสนทูตของพระองค์ ซึ่งดำเนินตามพระประสงค์ ที่จะช่วยเหลือกอบกู้มนุษย์ให้พ้นบาปหรือความทุกข์ทรมาน จึงได้แสดงพระองค์ให้ปรากฏแก่มนุษย์ในลักษณะต่างๆ กล่าวคือ

ก. ศาสดาที่เป็นพระเจ้า/เทพเจ้าที่เสด็จลงมาเป็นมนุษย์ (Divine Incarnation) หมายถึง องค์พระเจ้า หรือเทพเจ้าที่เสด็จลงมาเป็นมนุษย์ ทรงสถาปนา/ปฏิรูป/ปกครองศาสนาด้วยพระองค์เอง ได้แก่ พระนารายณ์อวตาร (พระวิษณุ) ซึ่งเป็นพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (ตรีมูรติ /Trimurti) พระเยซูคริสตเจ้าในศาสนาคริสต์ ซึ่งคริสตชนเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเจ้า (พระบุตรในพระตรีเอกภาพ /Trinity) ผู้เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์ นอกจากนั้น ในพระพุทธศาสนา แนวมหายานแบบทิเบตก็เชื่อในเรื่องการบังเกิดเป็นมนุษย์ด้วย คือ เชื่อว่าองค์ทะไลลามะ ผู้เป็นประมุขทางศาสนจักรและอาณาจักรของทิเบต เป็นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ ที่เสด็จมาบังเกิดเป็นมนุษย์

ข. ศาสดาที่เป็นนักพรตหรือฤาษี (Seers) ซึ่งบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า สามารถได้เห็น ได้ยินเสียงทิพย์ขณะจิตใจสงบ จดจำคำของพระเจ้า/เทพเจ้าได้ และนำมาจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร กลายเป็นคัมภีร์ทางศาสนาขึ้น เช่น คัมภีร์พระเวท ซึ่งเป็นศรุติ (Sruti) หมายถึงพระดำรัสของพระเจ้าที่ตรัสแก่พวกพราหมณ์ ให้นำมาสอนแก่มนุษย์ต่อๆ กันไป

ค. ศาสดาที่เป็นประกาศก (Prophets) หมายถึง ผู้ประกาศข่าวดี หรือคำสอนของพระเจ้า และทำนายเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดกับมนุษย์ในโอกาสต่างๆ เช่น โมเสส ในศาสนายูดาห์ ศาสดาพยากรณ์/ประกาศกไม่ได้ตั้งศาสนาขึ้นมาใหม่ แต่ได้นำพระดำรัสของพระเจ้าให้คนทั่วไปปฏิบัติตาม ในศาสนาคริสต์ถือว่าศาสดาพยากรณ์/ประกาศกทุกท่านในศาสนายูดาห์ คือ ผู้เตรียมทางไว้สำหรับพระเยซูคริสตเจ้า ใน ศาสนาอิสลามก็ยอมรับว่ามีศาสดาพยากรณ์/ประกาศก (นะบี) มาแล้วเป็นอันมาก เช่น โมเสส ในศาสนายูดาห์ และพระเยซูคริสตเจ้าในศาสนาคริสต์ ศาสดาพยากรณ์หรือนะบีเหล่านั้น คือ ศาสดาพยากรณ์/ประกาศกของพระเจ้า แต่ในศาสนาอิสลามถือว่านะบีมุฮัมมัด เป็นศาสดาองค์สุดท้าย ทำหน้าที่เป็นศาสนทูตของพระเจ้า

3.1.2 ศาสดาศาสนาแนวเทวนิยม
หมายถึง มนุษย์ผู้ค้นพบหลักสัจธรรมด้วยตนเอง หรือรวบรวมหลักธรรมคำสอน แล้วนำมาประกาศเผยแผ่แก่ผู้อื่น และตั้งศาสนาของตนขึ้น โดยสอนให้พึ่งตนเอง ไม่ต้องกราบไหว้วิงวอนขอพรจากสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อความรอดพ้น ได้แก่

ก. ศาสดาที่ตรัสรู้ด้วยตนเอง (Enlightened One) ด้วยความพากเพียร ตัดสละ บำเพ็ญตน จนพบความจริงของชีวิต ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ข. ศาสดาที่บำเพ็ญพรต จนบรรลุสัจธรรม (Extremist) เน้นการสละโลก และการบำเพ็ญพรตแบบทรมานตนด้วยหลักอหิงสาอย่างยิ่งยวด จนพบความจริงของชีวิต ได้แก่ ศาสดาในศาสนาเชน ที่เรียกว่า ตีรถังกร มีอยู่ 24 องค์ องค์สุดท้ายนามว่า มหาวีระ (Mahavira, ราวปี 599 ก่อน ค.ศ.) ที่สอนให้ปฏิเสธเทวนิยมแบบพราหมณ์ ยืนยันว่าชีวิตเป็นไปตามชะตากรรมนิยม (Fatalism)
ค. ศาสดาที่เป็นนักปราชญ์ (Scholastic Sages) ได้แก่ ศาสดาที่ไม่ได้ออกบวชเป็นสมณะ หรือนักพรต แต่ดำเนินชีวิตอยู่อย่างผู้ครองเรือน แต่สนใจในศาสนา และการปฏิบัติ เข้าใจสัจธรรมแตกฉาน รวบรวมระบบจริยธรรม หลักปฏิบัติตนในครอบครัวและสังคม เช่น ขงจื้อ หรือเล่าจื้อ เป็นต้น

3.2 พระคัมภีร์

หมายถึง ร่องรอยที่เป็นลายลักษณ์อักษร บันทึกพระดำรัส/พระวาจาของพระเจ้า รวมทั้งคำสอน ธรรมปฏิบัติของศาสดา และสานุศิษย์ที่สำคัญ หรือข้อความที่บันทึกเหตุการณ์เกี่ยวกับศาสนาที่ท่องจำ แล้วจดบันทึก เป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาต่อมา ซึ่งจัดไว้เป็นหมวดหมู่ตามลักษณะของแต่ละศาสนา

3.2.1 ศาสนาแนวเทวนิยม พระคัมภีร์เป็นร่องรอยถึงพระวจนะหรือคำสั่งของพระเจ้าแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติที่สัมพันธ์กับพระเจ้าด้วย พระคัมภีร์ของศาสนาแนวเทวนิยม ได้แก่ อเวสตะ (The Avesta, ศาสนาโซโรอัสเตอร์) พระเวท (The Vedas, ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) โตราห์และทัลมุด (The Torah and Talmud, ศาสนายูดาห์) ไบเบิ้ล (The Bible, ศาสนาคริสต์) อัลกุรอาน (The Quran, ศาสนาอิสลาม) และครันถะสาหิพ (The Granth, ศาสนาสิกข์) และ โคยิกิ นิฮอนงิ เยนงิ-ชิกิ มุนโย-ชุ (Ko-Ji-Ki Nihon-Gi Yengi-Shiki Munyo-Shu, ศาสนาชินโต)

3.2.2 ศาสนาแนวอเทวนิยม พระคัมภีร์ เป็นบันทึกคำสอนของศาสดาที่สอนเรื่องธรรมชาติของโลก และชีวิต รวมทั้งลำดับเหตุการณ์ที่ศาสดาแสดงหลักธรรมคำสอน และบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้อง อธิบายสภาวะธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ และยังรวมถึงหลักธรรมปฏิบัติในการเป็นศาสนิกชนด้วย พระคัมภีร์ของศาสนาแนวอเทวนิยม ได้แก่ เต๋า เต็ก เก็ง (Tao Te Ching, ศาสนาเต๋า) เก็งและชู (The Ching and Shu, ศาสนาขงจื้อ) พระไตรปิฎก (The Tripitaka, ศาสนาพุทธ) และ อาคมะ (The Agama, ศาสนาเชน)

3.3 ศาสนบริกร (นักบวชหรือสาวก)

หมายถึง ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร หรือผู้สละตนเองเพื่อภารกิจของศาสนาที่ตนนับถือ และประกาศตนเป็นสาวก หรือผู้ภักดีต่อองค์ศาสดา

ศาสนาแนวเทวนิยม ศาสนบริกร คือ ผู้ที่พระเจ้าทรงเลือกสรร ให้ดำเนินภารกิจของศาสนา มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั้งปวง ตั้งแต่เกิดจนตาย การเป็นผู้นำในการประกอบศาสนกิจต่างๆ เป็นผู้กำหนดรูปแบบพิธีกรรม วันเวลา ในการประกอบศาสนกิจ โดยผ่านกระบวนการฝึกฝนอบรมอย่างเข้มข้น ศาสนบริกรของศาสนาแนวเทวนิยมมีทั้งการถือโสดและการมีครอบครัวได้ ขึ้นกับหลักปฏิบัติของแต่ละศาสนา

ศาสนาแนวอเทวนิยม ศาสนบริกร คือ ผู้เข้าสู่ธรรมวินัยปฏิบัติตามหลักของศาสดา/ศาสนา มีการฝึกฝน อบรม ขัดเกลาชีวิตมุ่งสู่ความรอดพ้น นอกจากนั้นยังต้องทำหน้าที่ฝึกฝนอบรมศาสนิกชน ช่วยเหลือสังคม และเป็นผู้นำในการประกอบศาสนกิจ

3.4 ศาสนสถาน

หมายถึง สถานที่เกิดขึ้นของศาสนา อันเกี่ยวกับชีวิตของพระศาสดา เช่น สถานที่ประสูติ สถานที่แสดงหลักธรรมคำสอน รวมทั้งสถานที่ประชุมกลุ่มสาวกในระยะแรก โดยมีร่องรอยหลักฐานทางประวัติศาสตร์รับรองว่าเป็นปูชนียสถาน เนื่องจากเป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระศาสดา และการเกิดขึ้นของศาสนา เช่น วิหารทองคำ แห่งเมืองอมฤตสระ ในแคว้นปัญจาบ (ศาสนาสิกข์) เป็นต้น

3.5 สัญลักษณ์หรือพิธีกรรม (ศาสนพิธี)

แต่ละศาสนาย่อมมีพิธีกรรมเป็นเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์แตกต่างกันไป โดยใช้สิ่งที่เป็นรูปธรรมแทนสิ่งที่เป็นนามธรรม ซึ่งมีความหมายอันละเอียดลึกซึ้งโดยผ่านศาสนพิธี และศิลปกรรมต่างๆ ที่รวมความเป็นหนึ่งเดียวกันของศาสนิก เมื่อพบสัญลักษณ์เหล่านี้ ทำให้เข้าใจในทันทีว่าเป็นเรื่องของศาสนานั้นๆ เช่น พบธรรมจักร ก็ทราบได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของศาสนาพุทธ เป็นต้น

ศาสนพิธี (พิธีกรรม) เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับศาสนา ซึ่งอาจจะเป็นพิธีกรรมที่ปฏิบัติเป็นส่วนบุคคล หรือส่วนรวม ได้แก่ สวดภาวนาส่วนตัว หรือการร่วมศาสนพิธีในโบสถ์/วัด/มัสยิด ซึ่งมีบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์อยู่ด้วย ศาสนพิธี (พิธีกรรม) เป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา เนื่องจาก เป็นแนวทางการรักษาศาสนธรรม และเป็นเครื่องมือส่งเสริมความเชื่อศรัทธาตามหลักคำสอนในศาสนา ทำให้เกิดความสัมพันธ์กับความจริงในศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเครื่องหมายที่แสดงออกที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเป็นรูปธรรม เครื่องหมายศาสนาแบ่งออกได้หลายประเภทตามหลักการของศาสนานั้นๆ เช่น ด้านประติมากรรม สถาปัตยกรรมและจิตรกรรม เป็นต้น

แต่ละศาสนาจะต้องมีศาสนพิธีของตนเอง ซึ่งเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์แตกต่างกันไปตามประเภทรูปแบบและอุดมคติของแต่ละศาสนา


4. สรุปประจำบท

จากการนำเสนอความหมายของศาสนา ในเรื่องนิยาม ประเภท คุณลักษณะและองค์ประกอบของศาสนา ทำให้เข้าใจได้ว่าศาสนาช่วยให้มองดูชีวิตในอีกแง่หนึ่ง และสามารถมองคุณค่าของชีวิตในอีกระดับหนึ่งที่สูงกว่าค่านิยมต่างๆ ในด้านวัตถุ แต่หลายครั้งดูเหมือนว่าคำสอนของศาสนาอยู่ห่างไกลจากประสบการณ์ หรือไม่สอดคล้องกับการคิดตามเหตุตามผล ดูเหมือนว่ามีช่องว่างระหว่างความเป็นจริง และความเชื่อถือตามคำสอนของศาสนา ซึ่งจะทำให้ศาสนาปรากฏในรูปแบบที่ดูเหมือนว่าไร้เหตุผลหรือไร้สาระ เราพบการท้าทายอีกข้อหนึ่งสำหรับนักปรัชญา ถ้าหากว่าปรัชญาสามารถออกจากระดับของปรากฏการณ์ เพื่อจะตีความและแสวงหาความหมายของชีวิต กล่าวคือ ถ้านำเสนอปรัชญาออกมาเป็นอภิปรัชญาแท้ ก็จะสามารถข้ามช่องว่างระหว่างปรากฏการณ์และความเชื่อหรือคำสอนของศาสนาได้

ที่สุด เราจึงสรุปหลักเบื้องต้นว่า ศาสนาเป็น... (William, 1976)

- การน้อมรับ (The acceptance) ด้วยความเชื่อศรัทธา ที่มีต่อเนื้อหาสาระที่ไม่ได้จำกัด (มีขีดจำกัด) แค่สิ่งต่างๆ ในบริบทของโลกเท่านั้น
- การทุ่มเท (The commitment) ต่อการปฏิบัติตามหลักศีลธรรม (แนวปฏิบัติตามคำสอน) ของศาสนา หรือการแก้ไขปัญหาชีวิตตามหลักความเชื่อของศาสนา
- ความเชื่อมั่นทางจิตใจ (The psychological conviction) ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้นำสิ่งที่แต่ละคนเชื่อศรัทธา สู่การนำไปปฏิบัติในชีวิต

ทั้งนี้ มีพื้นฐานจากการที่มนุษย์ไตร่ตรอง และพบว่าตนมีลักษณะที่ “กลวงใน” ไม่สามารถบรรลุถึงความรอดพ้นภายในสภาพชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้ จึงจำเป็นต้องอาศัยความเชื่อศรัทธาต่อความจริงในศาสนา และพยายามใช้สติปัญญาเข้าใจความจริงในศาสนา เพื่อจะได้ดำเนินตามหลักธรรมคำสอนของศาสนาอย่างถูกต้อง เพื่อความมั่นคงและความรอดพ้นของชีวิตที่ความจริงของศาสนานำเสนอแก่เรา